พระราชดำรัส ” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถกับภาษาไทย “

 

“…เรื่องภาษาไทยที่เกี่ยวกับสมเด็จแม่นั้น เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๖ – ๗ ขวบ สมเด็จแม่ทรงสอนให้อ่านหนังสือวรรณคดีต่างๆ จำได้ว่าที่ง่ายและสนุกเหมาะสำหรับการเริ่มต้นก็คือ เรื่อง พระอภัยมณี ต่อด้วยเรื่องอื่นๆ ได้แก่ เรื่อง อิเหนา และรามเกียรติ์ เป็นต้น…”

จาก สมเด็จแม่กับการศึกษา พระราชนิพนธ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“…เรื่อง อิเหนา เป็นเรื่องที่โปรดมาก ทรงให้ข้าพเจ้าอ่าน คัดบทกลอนต่างๆ ให้ ทำให้ข้าพเจ้าท่องได้หลายตอน ทรงมีวิธีการสอนแปลกๆ เช่น อ่านอิเหนาตอน “เห็นดอกปาหนันสำคัญคิด เหมือนวันพี่ลิขิตด้วย นขา” ท่านสอนว่า ดอกปาหนันคือดอกลำเจียก กลีบใหญ่และแข็งแรงพอจะเขียนตัวหนังสือได้ ให้เก็บมาลองเขียนกลอน แต่เราเขียนด้วยเล็บไม่ได้ เพราะเราตัดเล็บสั้นก็ให้หาไม้เขียน

                     สมเด็จแม่ทรงจำเก่ง บทเพลงแปลกๆ ที่ทรงจำได้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ บทกลอนที่ทรงเล่าว่าเด็ดตาท่องให้ฟัง ก็มาสอนเราต่ออีก…”

จาก สมเด็จแม่กับการศึกษา พระราชนิพนธ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“…สมเด็จแม่ทรงอ่านหนังสือมาก มีทุกประเภท ไปไหนก็ต้องไปซื้อมาไว้ และทรงใช้หนังสือนั้นเป็นประโยชน์มากที่สุด จนทุกวันนี้ท่าน ก็ยังอ่านมาก เวลางานยุ่งๆ บางทีเราก็ไม่มีเวลาอ่านหนังสือ แต่ไม่ทราบว่า ท่านทำอย่างไรของท่านจึงมีเวลา ท่านซื้อหนังสือของท่านเอง ทรงซื้อพระราชทานให้ข้าพเจ้าอ่าน จนโตก็ยังทำ ทรงแนะนำทั้งการอ่านในใจและการอ่านดังๆ ซึ่งมีรับสั่งว่า จะช่วยให้ภาษาพูดของเราดีขึ้น ทรงสนับสนุนให้ตั้งห้องสมุด สะสมหนังสือ…”

จาก สมเด็จแม่กับการศึกษา พระราชนิพนธ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“…ความจริงวรรณคดีก็ดี เพลงไทยก็ดี มีความสำคัญอย่างหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า ชาติของเราหรือคนไทยเราหรือที่อยู่ในที่นี่ได้มีวิวัฒนาการมาอย่างไร…ได้รับเล่าเรียนความรู้ หรือว่ามีวิชาความรู้ มีศิลปวิทยาค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นมา อันนี้สำคัญมาก ส่วนความคิดที่อยากจะได้ของใหม่ๆ ของชาติอื่นมาประดับสติปัญญานั้น ไม่แปลก…”

พระราโชวาท สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ณ ห้องประชุมโรงเรียนจิตรลดา ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๘