พระราชดำรัส ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าด้วยภาษาไทยและความสำคัญของหนังสือ “

พระราชดำรัส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ว่าด้วย
ภาษาไทยและความสำคัญของหนังสือ

“…เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้…”

 

พระราชดำรัสในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕

“…ในด้านบัญญัติศัพท์หรือคำใหม่ก็เป็นทางหนึ่งที่อันตรายมากเหมือนกัน…สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นทางวิชาการไม่ใช่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก… แต่การตั้งคำใหม่นั้นมีหลักหลายประการ และผู้ที่ตั้งคำนั้นต้องรู้คำและหลักของภาษาลึกซึ้งทั้งภาษาไทย ทั้งภาษาต่างประเทศ ไม่ใช่เฉพาะภาษาอังกฤษ ต้องทราบถึงภาษาอื่นๆ ด้วย ต้องทราบถึงหลักภาษาอังกฤษเอง คือมาจากไหน มาจากความคิดอะไร เพื่อจะไม่ให้ผิดไปอย่างตลกขบขันทีเดียว…”

พระราชดำรัสในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕

“ภาษาไทยหรือภาษาทั้งหลายที่ใช้กันในปัจจุบันนั้นเป็นภาษาที่มีชีวิต เป็นภาษาที่ประชาชนใช้ ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงในความหมาย ถ้าเราบัญญัติศัพท์อะไรขึ้นมาก็จะขอให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้ที่มีความคิดในด้านภาษาเป็น “ศัพท์บัญญัติกร” กันทั้งชาติ หรือเป็นวิทยากรผู้ที่มีความรู้ทั้งชาติก็ไม่ได้… ทางที่ดีเราบัญญัติศัพท์แล้วก็ต้องลองดูว่าเขาเข้าใจหรือเปล่า การบัญญัติศัพท์หรือการมีคำใหม่มีบ่อเกิดหลายทาง… ท่านทั้งหลายที่เป็น “ศัพท์บัญญัติกร” ก็เป็นบ่อเกิด…  อีกบ่อหนึ่งก็คือ สำนักข่าวต่างๆ ที่แปลจากภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย ก็ออกมาเป็นภาษาประหลาดๆ เหมือนกัน…”

พระราชดำรัสในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕

 “…ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่นในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี”

พระราชดำรัสในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕

 

“หนังสือเป็นเสมือนคลังที่รวบรวมเรื่องราว ความรู้ความคิด วิทยาการทุกด้านทุกอย่างซึ่งมนุษย์ได้เรียนรู้ ได้คิดอ่าน และเพียรพยายามบันทึกรักษาไว้ด้วยลายลักษณ์อักษร หนังสือแพร่ไปถึงที่ใด ความรู้ความคิดก็แพร่ไปถึงที่นั่น หนังสือจึงเป็นสิ่งมีค่าและมีประโยชน์ที่จะประมาณมิได้ ในแง่ที่เป็นบ่อเกิดแห่งการเรียนรู้ของมนุษย์”

 

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในพิธีเปิดงานปีหนังสือแห่งชาติ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕

“นอกจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์. เสียงจะสูงขึ้นไปเรื่อย เสียงโทกลายเป็นเสียงตรี เสียงตรีจะกลายเป็นเสียงจัตวา เลยทำให้ฟังดูแปลก…ได้เคยพูดกับศาสตราจารย์ชาวสวีเดนซึ่งเขามีความรู้ใน ด้านภาษาศาสตร์ …ตกลงว่าได้มาจากหลายอย่าง จากการฟังภาษาต่างประเทศ แล้วก็อยากจะพูดแบบชาวต่างประเทศ จนติดตัว ข้อหนึ่ง. แต่อาจจะเป็นมาจากความเปลี่ยนแปลงของอวัยวะสำหรับเปล่งเสียง เพราะมีสายเลือดต่างประเทศ. คนที่มีเชื้อชาติต่างกัน จะมีสำเนียงต่างกัน.”

 

พระราชดำรัส พระราชทานแก่พสกนิกรที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ณ ศาลาดุสิดาลัย ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕

“แม้จะฟังที่เขาพูดทางวิทยุหรือโทรทัศน์ เสียงพูดนั้นก็เปลี่ยนแปลงไป. การออกเสียงของผู้ที่ประกาศโฆษณาประกาศข่าวในวิทยุ เสียงเปลี่ยนไปมาก…
อันนี้ก็เปลี่ยนแปลงไป…เดี๋ยวนี้เขาจะออกเสียงตัว “ชอ” หรือ ตัว “ฉอ” เหมือน“เอส เอช”(sh) ก็น่าแปลกใจ. แปลก อย่างพูดว่า “ฉัน” ก็จะกลายเป็น “ฉาน” (shun) “ฉาน”… “ฉันมาที่นี่” กลายเป็น “ฉาน” (shun) มาชี่นี่”

 

พระราชดำรัส พระราชทานแก่พสกนิกรที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ณ ศาลาดุสิดาลัย ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕

  “พระทรงเป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ
ทรงผดุงพุทธศาสน์ให้ผ่องใส
พระปรีชาสามารถฉกาจไกร
ทรงแก้ไขปัญหาประชาชน
ภาษาไทยสิ่งหนึ่งซึ่งทรงห่วง
ความสำคัญใหญ่หลวงวิบุลผล
พระราชดำรัสซึ้งตรึงกมล
ขอทุกคนช่วยรักษาอย่าทำลาย”

ฐะปะนีย์ นาครทรรพ   ๒๕๓๗