วันภาษาไทยแห่งชาติ

ความเป็นมาของวันภาษาไทย
ภาษาไทยเป็นเรื่องหนึ่งที่มีผู้คนจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความห่วงใยถึงการรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมด้านนี้ของชาติ โดยปรารถนามิให้มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินไป จนคนต่างรุ่นมีอุปสรรคในการสื่อสาร หรือไม่อาจเข้าใจสารด้วยความรู้สึกนึกคิดที่ตรงกันได้ แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระราชกรณียกิจนานัปการหลากหลายด้าน ก็ยังพระราชทานข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยของคนไทยในหลายโอกาส และถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่องค์ พระประมุขของชาติ ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์
วันสำคัญในอดีตข้างต้น ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ทรงร่วมอภิปรายกับผู้ทรงคุณวุฒิภาษาไทยหลายคน ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปรายดีเยี่ยม แสดงถึงพระปรีชาสามารถ และความสนพระราชหฤทัยห่วงใยในภาษาไทย เป็นที่ประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างยิ่ง ใจความสรุปตอนหนึ่งทรงกล่าวว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชปรารภที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับภาษาไทยแก่พสกนิกร ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๓๕ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต ในครั้งนี้ได้มีพระราชดำรัสถึงการออกเสียงของบุคคลในวงการสื่อมวลชน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเสียงพยัญชนะและเสียงวรรณยุกต์ ทั้งยังทรงสืบสอบจากผู้เชี่ยวชาญทางภาษา ถึงสาเหตุการเปล่งเสียงที่เปลี่ยนไป ความตอนหนึ่งที่ทรงกล่าวถึงการออกเสียงวรรณยุกต์ว่า
ปัญหาการใช้ภาษาไทยได้มีหลายคนหลายฝ่ายกล่าวถึงอยู่เนืองๆ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ร่วมกับองค์กรต่างๆมาโดยลำดับ เห็นควรส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทยอย่างต่อเนื่องจริงจัง โดยจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้น
คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นซึ่งมี นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เห็นชอบตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอ โดยกำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดง ความห่วงใยพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย และร่วมเฉลิมฉลองพระเกียรติ เนื่องใน มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ วัตถุประสงค์ต่อมา คือ (๑) เพื่อกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ร่วมมือร่วมใจกันทะนุบำรุงส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทยให้งดงามยั่งยืนคู่ชาติไทยตลอดไป (๒) เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อสร้างสรรค์เผยแพร่ความรู้ภาษาไทยและการใช้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชน (๓) เพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้น
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติแต่เริ่มต้น สืบเนื่องมาจนถึง พุทธศักราช ๒๕๕๐ เห็นสมควรมอบให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรม สืบแทน ในปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ดำเนินการยกย่องเชิดชูปูชนียบุคคล ด้านภาษาไทย และผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ในพุทธศักราช ๒๕๕๑ ได้เพิ่มประเภทรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่นอีกรางวัลหนึ่ง ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ ได้เพิ่มประเภทรางวัลผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย และในปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ มีองค์กรที่ได้รับรางวัลผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ถึง ๖ องค์กร ในส่วนของหน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดย สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา เป็นศูนย์กลางของการจัดกิจกรรม ได้จัดต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ได้มอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ทุกเขต จัดกิจกรรมประกวดประเภทต่างๆ แล้วส่งมาประกวดระดับชาติที่ส่วนกลาง ซึ่งจัดในกรุงเทพฯ บ้างในต่างจังหวัดบ้าง ในพุทธศักราช ๒๕๕๗ ได้กำหนดจัดกิจกรรมการอภิปรายและจัดประกวดความสามารถของนักเรียนและครู วันที่ ๒๗ – ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ
องค์กรภาคเอกชนองค์กรหนึ่งที่สำคัญและจัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติเป็นประจำทุกปี ได้แก่ สมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย ในปีนี้ได้จัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจ เรื่อง การสอนและข้อสอบภาษาไทยเชิงวิเคราะห์ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่อยู่ในความสนใจของครูผู้สอน อันจะช่วยส่งเสริมผลสัมฤทธิ์การเรียนระดับชาติของนักเรียนให้สูงขึ้น กำหนดอบรมวันที่ ๒๕ – ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรม เอส ดี อเวนิว กรุงเทพฯ