วันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล

เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล นายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย ได้มอบเป็นความรู้และข้อคิดหลายๆเรื่องที่เป็นประโยชน์สำหรับคนไทยทุกคนขอเชิญติดตามได้เลยคะ
วันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙
วันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๕๕๙

เราโชคดีที่มีภาษาไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕ ว่า “เราโชคดีที่มีภาษาไทย สมควรที่จะรักษาไว้” ประชาชนชาวไทยทุกคนควรจะสนองพระราชดำรัส ช่วยกันรักษาภาษาไทย ไม่ใช่ว่าเพราะเป็นพระราชดำรัส แต่เพราะภาษาไทยเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงความเป็นชาติ เป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยทุกคนมีความรู้สึกว่าเป็นชาติเดียวกัน. ภาษาไทยเป็นเครื่องมือสื่อสารของคนไทยทั่วทั้งประเทศ และเป็นภาษาที่ยึดโยงคนไทยให้เป็นพวกเดียวกัน คนไทยจึงต้องรักษาภาษาไทยให้ยืนยงต่อไป. การรักษาภาษาไทยมีทั้งการออกเสียงตามระบบเสียงของภาษาไทย การใช้คำตามหลักภาษาและตามวัฒนธรรมไทย รวมทั้งการอ่านการเขียนตามระบบอักขรวิธีของภาษาไทยด้วย.
การเรียนรู้ภาษาไทย
ความโชคดีประการหนึ่งของคนไทย คือ การที่มีภาษาไทยสำหรับใช้สื่อสารกันในกิจการทุกประเภท ทุกระดับ. เรามีภาษาไทยใช้เป็นราชาศัพท์ ภาษาราชการ ภาษาวิชาการ ภาษาธุรกิจ ภาษาบันเทิง ไปจนถึง ภาษาตลาดและคำบริภาษด่าทอกัน. ก่อนที่จะเรียนรู้ภาษาของชาติอื่น เราจึงควรเรียนรู้ภาษาไทยให้แตกฉานเสียก่อน. ถ้าเราไม่เรียนรู้ภาษาไทย ไม่รักษายกย่องภาษาไทย เราก็จะทำให้ความโชคดีของเราสูญสิ้นไปโดยเปล่าประโยชน์. เพื่อสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ เรามีโชคดีที่มีภาษาไทย” จึงสมควรอย่างยิ่งที่คนไทยทุกคนจะได้ใส่ใจศึกษาภาษาไทย และระมัดระวังการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ชัดเจน และใช้ภาษาในทางสร้างสรรค์.
ถวายของทูนพระขวัญ
คนในแผ่นดินไทยไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด นับถือศาสนาใด ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพใด ต่างอยู่ใต้เบื้องพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยภาษาไทย มีพระราชประสงค์ให้คนไทยใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ก็ควรจะแสดงความจงรักภักดีด้วยการพยายามเรียนรู้ภาษาไทยใช้ภาษาไทย รักษ์ภาษาไทย และพัฒนาภาษาไทยให้เป็นภาษาที่ถูกต้อง ทันสมัย
ในวโรกาสการครองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้คนไทยทุกคนตั้งปณิธานที่จะทำแต่ความดีเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็นของทูนพระขวัญ การรักษาสมบัติวัฒนธรรมทางภาษาของชาติ ก็เป็นการทำความดีอย่างหนึ่งที่มีค่าสมควรกระทำเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในวโรกาสพิเศษนี้ ขอให้คนไทยทุกคนศึกษาภาษาไทย และตั้งใจใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เพื่อรักษาไว้เป็นสมบัติวัฒนธรรมตามพระราชประสงค์โดยทั่วหน้ากัน.
คำว่า เถลิงถวัลยราชสมบัติ (ถะ-เหฺลิง-ถะ-หฺวัน-ยะ-ราด-ชะ-สม-บัด)
ปัจจุบันสื่อมวลชนกล่าวคำนี้บ่อย เพราะเป็นเวลาที่มีการฉลองการขึ้นครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๗๐ ปี. คำที่เป็นปัญหา คือ คำว่า ถวัลย เนื่องจากมีผู้ไม่เข้าใจระบบเสียงภาษาไทย จึงอ่านเรียงตัวไปตามอักษรทุกตัวที่ปรากฏ. คำภาษาใดก็ตามที่รับมาใช้ในภาษาไทยจะปรับเสียงทั้งเสียงพยัญชนะ เสียงสระ เสียงวรรณยุกต์ตามระบบเสียงของภาษาไทย เพราะไม่มีคนชาติใดในโลกที่จะใช้เสียงของภาษาต่างชาติได้เป็นปรกติ. คำภาษาบาลีสันสกฤตที่รับมาใช้ในภาษาไทยย่อมออกเสียงตามลักษณะของภาษาไทย มีเสียงสะกดเสียงวรรณยุกต์ตามระบบเสียงภาษาไทยซึ่งคนไทยทุกคนจะออกเสียงได้อย่างสะดวก ราบรื่น ไม่ตะกุกตะกัก. คำว่า ถวัลย์ ถ้าใช้ลำพังออกเสียงว่า ถะ-หฺวัน. เมื่อประกอบกับคำว่า ราชสมบัติ จะออกเสียงว่า ถะ-หฺวัน-ยะ-ราต-ชะ-สม-บัด. คำที่สะกดด้วย ล มี ย ตาม จะออกเสียง ล เป็นตัวสะกด ออกเสียง ย ประสมกับสระ อะ เทียบได้กับพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า อดุลยเดช (อะ-ดุน-ยะ-เดด) และเทียบได้กับคำว่า ศัลยศาสตร์ (สัน-ยะ-สาด) ดุลยภาพ (ดุน-ยะ-พาบ) ศัลยแพทย์ (สัน-ยะ-แพด) พิศลยบุตร ( พิ-สน-ยะ-บุด)
คำที่ใช้ ณ ฬ สะกด มีตัวตามก็ออกเสียงได้แบบเดียวกัน เช่น
การุณยฆาต อ่านว่า กา-รุน-ยะ-คาด
อุณหภูมิ อ่านว่า อุน-หะ-พูม
อาสาฬหบูชา อ่านว่า อา-สาน-หะ-บู-ชา
สามานยนาม อ่านว่า สา-มาน-ยะ-นาม-
ขอพียงให้รักภาษาไทย
ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด คำนามในภาษาไทยไม่มีการเปลี่ยนรูปเพื่อแสดงว่าเป็นเอกพจน์ หรือพหูพจน์ คำกริยาไม่ต้องเปลี่ยนรูปเพื่อแสดงว่าเป็นกริยาในอดีต หรือกริยาในอนาคต. คำในภาษาไทยไม่ว่าจะเป็นคำไทยแท้ หรือคำยืมมาจากภาษาใด ขอเพียงออกเสียงให้ชัด ใช้ให้ถูกความหมายซึ่งคนไทยเข้าใจตรงกันก็เป็นคำไทย.คำที่ยืมมาจากภาษาอื่นเช่นภาษาบาลีสันสกฤต หรือภาษาอื่นใด ก็ยืมมาเฉพาะคำกับความหมาย ยืมมาแล้วก็เป็นคำไทย ไม่ได้ยืมการเปลี่ยนรูปตามภาษานั้นเข้ามาด้วย ไม่ได้ยืมการออกเสียงมาด้วย. การออกเสียงต้องมีเสียงวรรณยุกต์อย่างภาษาไทย ใช้อักษรสูง กลาง ต่ำอย่างภาษาไทย. ขอเพียงให้รักภาษาไทย เข้าใจภาษาไทยท่านก็จะใช้คำยืมใดๆได้อย่างสะดวก ไม่ต้องพะวงว่าจะต้องออกเสียงอย่างแขก หรืออย่างเจ้าของภาษาเสมอไป.
ลูกหลานไทยรักภาษาไทย
ลูกหลานไทยส่วนหนึ่งทอดทิ้งภาษาไทยหรือใช้ภาษาไทยอย่างไม่เห็นคุณค่า ไม่ทะนุถนอม ไม่เอาใจใส่ดูแล จนทำให้ภาษาไทยผิดเพี้ยนไปทั้งในการออกเสียง การเขียน รวมทั้งการใช้คำตามความหมายตามหน้าที่หรือตามบริบท. ความผิดเพี้ยนทั้งหลายที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะทำให้ลักษณะและระบบของภาษาไทยแปรเปลี่ยนไป อาจทำให้เกิดความสูญเสียต่างๆ เช่น เสียงบางเสียงสูญหายไป ระบบการสะกดการันต์ตามอักขรวิธีไทยแปรปรวนไป ความหมายของถ้อยคำและสำนวนที่ใช้สับสนหรือไม่ชัดเจน ในที่สุดก็อาจทำให้คนไทยในรุ่นต่างๆ ไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ตรงกัน จึงขอเชิญชวนเยาวชนไทยผู้มีความรักประเทศชาติร่วมใจกันรักภาษาไทย ศึกษาภาษาไทย และพูดภาษาไทยให้ชัดเจนถูกต้องเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็นของขวัญแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีนี้และตลอดไป.
ชื่อ อาคารนวมินทรบพิตร
โรงพยาบาลศิริราชกำลังระดมทุนสร้าง อาคารนวมินทรบพิตร คำว่า นวมินทรบพิตร (นะ-วะ-มิน-บอ-พิด) ไม่จำเป็นต้องออกเสียง ทร. คำที่มี ทร ตามหลังตัวสะกด มักไม่ออกเสียง ทร เช่น พระปรมินทรมหา (พระ-ปอ-ระ-มิน-มะ-หา) อินทรธนู (อิน-ทะ-นู) อมรินทรวินิจฉัย (อัม-มะ-ริน-วิ-นิด-ฉัย) จันทรเกษม (จัน-กะ-เสม) จันทรสโมสร (จัน-สะ-โม-สอน) ศรีนครินทรวิโรฒ (สี-นัก-คะ-ริน-วิ-โรด) จักรีนฤบดินทร (จัก-กฺรี-นะ-รึ-บอ-ดิน)ไม่ออกเสียง ทร เลย.
ชื่อ อาคารนวมินทรบพิตร เมื่อเทียบกับคำที่มีใช้กันมา หากออกเสียงว่า นะ-วะ-มิน-บอ-พิด ก็น่าจะออกเสียงได้ง่ายและเหมาะสำหรับเสียงคนไทยมากกว่าออกเสียงเป็นภาษาแขกนะคะ.
ร ใบ้
การออกเสียงคำในภาษาไทยมีระบบและแบบที่คนไทยจะออกเสียงได้สะดวก ไม่ตะกุกตะกักและฟังเพราะ คำที่ยืมมาจากภาษาบาลีสันสกฤตก็ไม่ออกเสียงทุกตัวเหมือนภาษาเดิม และไม่จำเป็นต้องเหมือนภาษาเดิม เช่น คำยืมจากภาษาบาลีสันสกฤตที่มี ตรทร ชร เป็นตัวสะกด ในภาษาไทยมักจะไม่ออกเสียงตัว ร นั้น เช่น คำว่า บุตร บาตร มิตร เนตร ฉัตร จิตร เกษตร สมุทร ภัทร เพชร. เมื่อมีคำมาประสมก็ยังคงไม่ออกเสียงตัว ร เช่น จิตรลดา (จิด-ละ-ดา) เกษตรศาสตร์ (กะ-เสด-สาด) สมุทรปราการ (สะ-หฺมุด-ปรา-กาน) ภัทรพัฒน์ (พัด-พัด) เพชรรัตน์ (เพ็ด-ชะ-รัด) เพชรฤกษ์ (เพ็ด-ชะ-เริก) เพชรหึง (เพ็ด-ชะ-หึง) ตัว ร เป็น ร ใบ้ ทุกคำ..
ตจวิทยา
แผนกโรคผิวหนังที่โรงพยาบาลศิริราชขึ้นป้ายว่า ตจวิทยา จึงมีเด็กมาถามว่า ให้อ่านว่าอย่างไร ตัวพยัญชนะ๒ ตัวเรียงกัน ไม่มีรูปสระ ให้ใส่สระ โอะ เป็นสระลดรูป เช่นคำว่า ตง ตน ตม ดม ปม ใช่หรือไม่ . คำที่เป็นชื่อแผนกโรคผิวหนัง ตจ ( ตอ-จอ) มาจากภาษาบาลีว่า ตจ (ตะจะ) แปลว่า ผิวหนัง คำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตเมื่อไม่มีรูปสระอาจเติมสระ อะ ก็ได้ คำว่า ตจวิทยา จึงอ่านว่า ตัด-จะ-วิด-ทะ-ยา เช่นเดียวกับคำว่า อกตัญญู (อัก-กะ-ตัน-ยู) ศตวรรษ (สัด-ตะ-วัด) อมรินทร์ (อัม-มะ-ริน) นครินทร์ (นัก-คะ-ริน) ลลนา (ลัน-ละ-นา) คณนา (คัน-นะ-นา) ปฐพี (ปัด-ถะ-พี) กทลี (กัด-ทะ-ลี).
คำว่า ตจวิทยา ถ้าจะเขียนว่า ตัจวิทยา ก็ไม่ผิดอะไร น่าจะทำให้อ่านได้ง่ายด้วย ใส่ไม้หันอากาศเสียเถอะค่ะ.
ภาษาถิ่นก็ภาษาไทย
คนไทยในประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาชาติ เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันทั่วประเทศ คนไทยในถิ่นต่างๆล้วนมีภาษาของตนใช้เป็นภาษาถิ่น. ภาษาถิ่นก็เป็นภาษาไทย. แต่การออกเสียง การใช้คำศัพท์บางคำจะแตกต่างกับภาษาไทยในถิ่นอื่น คนที่อยู่ต่างถิ่นกันถ้าแต่ละคนใช้แต่ภาษาถิ่นของตน คนอื่นก็อาจจะไม่เข้าใจ สื่อสารกันไม่ได้. ถ้าใช้ภาษาชาติแต่ออกเสียงเป็นภาษาถิ่น ก็เท่ากับทำลายทั้งภาษาชาติและภาษาถิ่น เหมือนคนที่พูดภาษาไทยแต่ดัดเป็นเสียงฝรั่ง พอพูดภาษาอังกฤษก็ออกเสียงแบบไทยๆ. ตลกดีนะ. การสื่อสารในระดับประเทศ ในเรื่องที่เป็นทางการ ควรใช้ภาษากลาง คือ ภาษาชาติ. คนไทยทุกถิ่นรู้ภาษาชาติ ใช้ภาษาชาติได้ดี. การออกเสียงของบางคนอาจจะติดสำเนียงท้องถิ่นบ้าง ติดคำภาษาถิ่นบ้าง ก็เป็นความน่ารัก ไม่ควรที่จะนำมาเล่นเป็นเรื่องตลกขำขัน หรือล้อเลียนกัน. คนทุกคนมีความเป็นตัวตนของเขา เราควรยอมรับและให้เกียรติผู้อื่นตามความเป็นตัวตนของเขานั้น.
ครูผู้สอนภาษาไทย
คนไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาชาติ. ภาษาชาติเป็นภาษาที่คนไทยทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อสืบทอดอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไปสู่ลูกหลานไทย. ความรู้ ความคิด จิตใจ ความรู้สึก ทุกสิ่งที่เกิดกับคนไทยเกี่ยวพันกับภาษาไทย. พ่อแม่ และครูทุกคนเป็นผู้มีหน้าที่สอนเยาวชนไทยทุกระดับจึงต้องสอนคนไทยให้ใช้ภาษาไทยในการคิด อ่าน เขียน และพูดอย่างมีเหตุผล เที่ยงตรง สุจริต รู้ทันเท็คโนโลยี สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆเพื่อความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต รักษาภาษาไทยเพื่อสืบทอดวัฒนธรรมของชาติและพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป และ สามารถปรับเข้าสู่สังคมอาเซี่ยนและสังคมโลกโดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ของความเป็นไทยด้วย.
เครื่องหมายวรรณยุกต์
ภาษาไทยเป็นภาษาวรรณยุกต์เมื่อพ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์อักษรไทย ก็ทรงประดิษฐ์เครื่องหมายวรรณยุกต์สำหรับการเขียนภาษาไทย เพราะทรงทราบดีว่า การเขียนภาษาไทยด้วยตัวอักษรไทยต้องใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ คนไทยใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์เขียนภาษามากว่า ๗๐๐ ปี เขียนทั้งคำไทย และคำภาษาอื่นที่รับมาใช้ในภาษาไทย ไม่ว่าภาษานั้นจะเป็นภาษาวรรณยุกต์หรือไม่. ที่ใช้กับคำบาลีสันสกฤตก็มี เช่น เล่ห์ สนเท่ห์, ที่ใช้กับคำเขมรก็มี เช่น ตำแหน่ง จำหน่าย โมงครุ่ม , ที่ใช้กับคำโปรตุเกสก็มี เช่น ปิ่นโต, ที่ใช้กับคำภาษามลายูก็มี เช่น สุเหร่า ปาเต๊ะ, ที่ใช้กับคำเปอร์เซียร์ก็มี เช่น สุหร่าย องุ่นกะหล่ำ สรั่ง, ที่ใช้กับคำภาษาฝรั่งเศสก็มี เช่น รู้จโค้ช บัลเล่ต์บุ๊ฟเฟ่ต์. คำภาษาอังกฤษที่ใช้วรรณยุกต์ก็มีอยู่ เช่น คำว่า เชิ้ต โน้ต เค้ก บรั่นดี แป๊บ กิ๊บ ช้อล์กมิชชั่น และอื่นๆคำจากภาษาใดก็ตาม เมื่อมาใช้เขียนในภาษาไทยก็ต้องแสดงตัวเขียนตามหลักอักขรวิธีให้ตรงกับเสียงที่ใช้ในภาษาไทยถ้าเขียนไม่ตรงก็เป็น ภาษาวิบัติ.ใช่หรือไม่คะ.

Tags: