ครูภาษาไทยในประชาคมอาเซี่ยน

ครูภาษาไทยในประชาคมอาเซี่ยน
: บทความแนะนำครูภาษาไทยสร้างพลังให้เด็กไทยก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยน

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล
ความสำคัญของอาเซี่ยน
อาเซี่ยน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เป็นองค์กรระหว่างชาติที่เริ่มก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๔ แต่มีการลงนามของประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๐. ประเทศที่ก่อตั้ง ๕ ประเทศแรก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์. ต่อมาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาร่วมอีกตามลำดับ คือ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชาเป็นประเทศสุดท้าย. ปัจจุบันอาเซี่ยนมีสมาชิกรวม ๑๐ ประเทศ. อาเซี่ยนมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความร่วมมือในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศที่เป็นสมาชิก เนื่องจากในขณะนั้น ภูมิภาคอาเซี่ยนกำลังมีความขัดแย้งกันในด้านการเมือง และกำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากลัทธิการเมืองฝ่ายที่ตรงข้ามกับโลกเสรี. นายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยจึงคิดโครงการจัดตั้งประชาคมอาเซี่ยนขึ้น.
พ.ศ.๒๕๓๕ มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีของอาเซี่ยน (AFTA หรือ ASEAN Free Trade Area) เพื่อความร่วมมือทางการค้า. ต่อมาจึงขยายขอบเขตความสัมพันธ์ให้ครอบคลุมการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การสื่อสาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และยังมีความตกลงเรื่องการต่อต้าน ยาเสพติด และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ มีความร่วมมือกันจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมถึงกันด้วย และมี ASEAN TV ช่อง 99 เสนอรายการสำหรับ 10 Nations 1 Vision.
มีความตกลงร่วมกันว่า ปี ๒๕๕๘ ประชาชาติในประชาคมอาเซี่ยนจะมีความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น โดยการเปิดการค้าเสรีทั้งหมด เปิดเส้นทางคมนาคมถึงกัน ไม่มีการปิดกั้นขวางการทำงาน อาเซี่ยนจะเป็นเสมือนประเทศเดียวกัน. การติดต่อระหว่างบุคคลไม่ว่าจะเป็นชาติใดต้องใช้ภาษาที่สื่อสารกันได้ ภาษาที่ใช้ในประชาคมอาเซี่ยนคงจะต้องใช้ภาษาอังกฤษ เพราะเป็นภาษาที่ทุกประเทศในอาเซี่ยนใช้ได้มากที่สุด บางประเทศใช้เป็นภาษาที่สอง และบางประเทศใช้เป็นหนึ่งในภาษาชาติมาแล้ว.

การเตรียมตัวเข้าประชาคมอาเซี่ยน
เนื่องจากประชาชาติในสมาคมอาเซี่ยนจะมีการติดต่อเชื่อมโยงถึงกันไม่เฉพาะแต่ทางการค้าของ นักธุรกิจ ราชการของหน่วยงานรัฐบาล ผู้บริหารระดับสูงในสถานศึกษา หรือการแลกเปลี่ยนนักศึกษาเท่านั้น แต่จะมีการเปิดความสัมพันธ์ในทุกระดับ ทั้งจะไม่มีการกีดกันการส่งสินค้าเข้าออกระหว่างกัน ไม่มีการสงวนอาชีพใดสำหรับคนชาติใดโดยเฉพาะ มีเพียงการเงินเท่านั้นที่ไม่ได้มีการรวมกันเป็นหนึ่ง. ในฐานะครู จึงมีหน้าที่เตรียมเยาวชนให้พร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยน และควรจะเข้าอย่างงามสง่า ไม่ใช่เซหลุนๆ หรือกระโจนเข้าไปตะลีตะลาน.
ประเทศไทยเป็นประเทศหลักที่เป็นผู้ก่อตั้งอาเซี่ยนมิใช่เป็นเพียงหนึ่งในอาเซี่ยน, คนไทยจึงต้องมีส่วนที่จะผลักดันให้ความร่วมมือของประเทศในประชาคมอาเซี่ยนเป็นไปได้อย่างรุ่งโรจน์ และบังเกิดผลเป็นความก้าวหน้าสมบูรณ์ของประชาคมอาเซี่ยน. ครูมีหน้าที่สร้างเยาวชนให้พร้อมเข้าประชาคมอย่างสง่ามีศักดิ์ศรี มีความสามารถเท่าเทียมสมาชิกชาติอื่น มิใช่เพียงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ แต่คนไทยต้องมีความรู้ในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วรรณคดี ศิลปะ ประเพณี ค่านิยม และความเป็นชาติของเราอย่างถูกต้อง เข้มแข็ง มั่นคง. คนไทยต้องสามารถแสดงความภาคภูมิใจที่จะรักษาและเผยแพร่สมบัติวัฒนธรรมของชาติให้เพื่อนสมาชิกได้รับรู้และชื่นชมด้วย. ครูภาษาไทยต้องมีหน้าที่ปลูกฝังความรู้ และความภาคภูมิใจในสมบัติวัฒนธรรมทุกแขนงของชาติ เพื่อให้เยาวชนของเราพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนกับเพื่อนประชาคมอาเซี่ยนได้อย่างไม่ด้อยกว่าใคร ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักเรียนรู้จากเพื่อนชาติอื่นๆ ด้วย.

ความเข้าใจเรื่องภาษา
สิ่งที่ควรทำความเข้าใจกับนักเรียนไทยเรื่องหนึ่งคือ เรื่องภาษา ว่าทุกภาษามีลักษณะเฉพาะที่จะต้องศึกษาและใช้ให้ถูก เช่น ภาษาไทยเป็นภาษาวรรณยุกต์ ทุกพยางค์ทุกคำมีเสียงวรรณยุกต์และเสียงนั้นจะไม่เปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อเปลี่ยนตำแหน่งประโยค. คำที่รับมาจากภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่นไม่ว่าภาษานั้นจะมีวรรณยุกต์หรือไม่ เมื่อรับมาใช้ในภาษาไทยแล้วจะมีเสียงวรรณยุกต์ทั้งสิ้น, และเสียงพยัญชนะเสียงสระย่อมเป็นเสียงในระบบภาษาไทย. คำที่รับมาจากภาษาอังกฤษจะออกเสียงตามระบบภาษาไทย แต่เมื่อนำคำนั้นๆ กลับไปใช้ในภาษาอังกฤษก็ต้องใช้เสียงของภาษาอังกฤษ เป็นคำที่ไม่มีวรรณยุกต์แต่จะมีระดับของทำนองเสียงตามตำแหน่งที่คำนั้นๆ ปรากฏ ซึ่งต่างจากคำในภาษาไทย และคำภาษาอังกฤษนั้นๆ ก็ต้องแสดงหน้าที่ทางไวยากรณ์ เปลี่ยนแปลงรูปคำถูกตามหลักของภาษาอังกฤษ เช่น การออกเสียงคำในภาษาไทย ส่วนมากจะตรงตามตัวเขียน แต่ภาษาอังกฤษไม่ตรงกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น คำว่า go กับ do put กับ but. เขียนเหมือนกันแต่ออกเสียงต่างกัน คำว่า Wednesday Glocester Tottenham Woucester และอีกหลายๆ คำไม่อออกเสียงพยางค์ที่อยู่ ตรงกลาง. ในคำหลายคำมีตัวอักษรที่ไม่ออกเสียง เช่น b ในคำว่า debt l ในคำว่า salmon k ในคำว่า knight k ในคำว่า know p ในคำว่า pneumonia เป็นต้น. เมื่อพบคำภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นคำที่ไม่เคยรู้มาก่อน อ่านออกไปทันทีอาจผิดได้ ควรศึกษา Dictionary of pronunciation เพื่อให้ออกเสียงได้ถูกต้อง และใช้ได้ถูกต้องตามหน้าที่และตำแหน่งของคำ.
การที่จะมีความสัมพันธ์กับผู้ใดได้ดี ภาษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด. ภาษามีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาอย่างแนบแน่น. แม้เพียงการเรียกชื่อ คนแต่ละชาติก็มีธรรมเนียมการเรียกที่ต่างกันไป จึงต้องให้นักเรียนสนใจเรื่องภาษาให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน. ถ้าภาษาแม่ ภาษาของเราเองซึ่งเป็นภาษาที่สะท้อนความคิดและความเป็นตัวตนของเราถูกต้องชัดเจน ก็จะเข้าใจภาษาอังกฤษและภาษาของชนชาติอื่น ได้ดี. คำภาษาอังกฤษที่รับมาใช้ในภาษาไทยจะใช้ตามหลักของภาษาไทย เช่น ไม่มีการเปลี่ยนรูปเพื่อแสดงหน้าที่ ตำแหน่งของคำขยายอยู่หลังคำที่ถูกขยาย เช่น black cat, white house. เมื่อรับคำภาษาอังกฤษมาใช้ในภาษาไทย ก็จะใช้อย่างในภาษาไทย เช่น แท็กซี่มิเตอร์ โลชั่นไว้เทนนิ่ง แต่เมื่อจะกลับไปพูดภาษาอังกฤษก็ต้องเปลี่ยนรูปให้คำคุณศัพท์อยู่หน้านามตามลักษณะของภาษาอังกฤษ เป็นต้น ควรต้องแยกให้ออกระหว่างการใช้คำยืมภาษาอังกฤษกับการใช้ภาษาอังกฤษเมื่อพูดภาษาอังกฤษ การใช้ภาษาอังกฤษได้เพียงแนะนำการท่องเที่ยว บอกทาง แนะนำอาหาร ฯลฯ คงไม่เพียงพอสำหรับการเป็นประชาคมอาเซี่ยน เพราะถ้าไม่รู้จักที่จะพูดจาให้ทันผู้อื่น เราอาจจะเสียเปรียบในการเจรจา หรือทำให้ต้องตกในภาวะที่ไม่น่าอภิรมย์ได้. ปัจจุบันเด็กในประเทศเพื่อนบ้านของเราขะมักเขม้นเรียนภาษาไทยเพื่อสัมพันธไมตรีและความร่วมมือระหว่างกัน แต่เด็กไทยมีจำนวนน้อยมากที่คิดจะเรียนภาษาเพื่อนบ้าน. เขารู้เราแต่เราไม่รู้เขา ใครจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ครูภาษาไทยคงจะต้องมีหน้าที่ช่วยนำทางเด็กไทยให้เดินทางได้เหมาะสมและถูกต้อง.

การสร้างคุณสมบัติให้เยาวชนของชาติ
ในโลกปัจจุบัน ความรู้และความรอบรู้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เราอยู่ได้รอดในสังคมที่มีการแข่งขันกัน ถ้าเด็กของเราไม่มีความรู้จริง ไม่มีความรอบรู้ ไม่มีความรู้รอบตัวที่ควรจะรู้ เราอาจจะกลายเป็นคนว่างงาน เพราะคนชาติอื่นที่มีความรู้หรือความมุ่งมั่นในการทำงานมากกว่าแย่งงานไปหมด ในภาวะที่เขตการค้าเสรีกว้างขวางคลุม ๑๐ ประเทศ การแข่งขันย่อมสูง ครูภาษาไทยจึงจำเป็นต้องมีพลังเพื่อการเสริมสร้างเด็กไทย ดังนี้
๑. ครูจะต้องเป็นผู้นำ ผู้ชี้แนะให้เด็กก้าวทันอาเซี่ยนอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ผลีผลามโดยไม่มีภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม มีมานะพยายามที่จะพัฒนาตนให้มีความรู้ทัดเทียมหรือเก่งกว่าชาติอื่น
๒. ครูจะต้องรู้จักฝึกเด็กไทยให้เป็นผู้ที่มีมิตรจิตมิตรใจ รู้จักอะลุ้มอล่วย รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีของคนไทยให้ถูกกาลเทศะ เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาติขึ้นได้
๓. ครูจะสร้างจิตสำนึกให้เด็กไทยรู้คุณค่าของความเป็นไทย ด้วยไทยเป็นชาติที่มีวัฒนธรรม มีศิลปกรรมทุกแขนงที่ได้สั่งสมมายาวนาน มีประวัติศาสตร์ที่ควรภาคภูมิใจ เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยน เด็กไทยต้องมีความเชื่อมั่น มีความเป็นตัวเองมากพอที่จะไม่ด้อยกว่าเด็กชาติอื่น และจะต้องไม่เป็นผู้ตามจนสูญเสีย อัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของความเป็นคนไทย
๔. ครูจะต้องแนะนำและฝึกเด็กไทยให้รู้จักพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจ เนื่องจากภายในกรอบความสัมพันธ์ของอาเซี่ยน จะมีสินค้าจากต่างแดนเข้ามาสู่ตลาดบ้านเราอย่างมากมาย เด็กของเราอาจจะตื่นของแปลกของใหม่ด้วยลักษณะที่ยั่วใจและด้วยราคาที่ถูกกว่าของในบ้านเรา ควรสอนให้เด็กคิดนึกถึงความจำเป็น ความคุ้มค่า ความคงทน และความเหมาะสม ก่อนที่จะซื้อหรือใช้สินค้าตามกระแสเศรษฐกิจและการค้าในประชาคมอาเซี่ยน
ที่สำคัญ ครูต้องเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะนำทางเด็กเดินอย่างถูกต้อง เหมาะสม ครูต้องใช้วิจารณญาณให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มิฉะนั้น ไทยจะกลายเป็น “หมูสยาม” ไปในสายตาประชาชาติในประชาคม อาเซี่ยน.