คำที่ใช้หมายถึงพระมหากษัตริย์

คำที่ใช้หมายถึงพระมหากษัตริย์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล
เนื่องจากวันที่ ๕ พฤษภาคม ของทุกปี เป็นมหามงคลคล้ายวันพระราชพิธีฉัตรมงคล จึงขอเสนอความรู้เกี่ยวกับคำที่ใช้หมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งในภาษาไทยมีหลายคำ เช่น ตำว่า พระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัว พระราชา อาจแบ่งเป็นคำที่ใช้โดยปรกติเป็นคำทางการ คำลำลอง และคำในวรรณคดี
คำทางการ
กษัตริย์ เป็นคำภาษาสันสกฤตว่า กฺษตฺริย แปลว่า นักรบ เป็นคำเรียกคนวรรณะที่ ๒ ของสังคม ฮินดู กษัตริย์เป็นชนชั้นผู้ปกครองประเทศ เป็นผู้ที่ได้เรียนรู้ศิลปศาสตร์ต่างๆ เช่น ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ มักใช้ด้วยคำยกย่องว่า พระมหากษัตริย์.
พระมหากษัตริย์ เป็นคำเรียกตำแหน่งผู้ปกครองประเทศที่สืบต่อมาแต่โบราณกาล เช่น
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข.
พระมหากษัตริย์ที่ปกครองแผ่นดินของไทยในสมัยสุโขทัย มี ๙ พระองค์ สมัยอยุธยามี ๓๔ พระองค์ สมัยธนบุรี มี ๑ พระองค์ ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ พระองค์ปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๙.
พระเจ้าแผ่นดิน หมายความว่า ผู้เป็นเจ้าของแผ่นดิน เป็นคำเรียกผู้ปกครองประเทศอีกคำหนึ่ง ตามความ เชื่อว่า แผ่นดินทั้งหมดเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ทรงอนุญาตให้ราษฎรใช้เพื่อทำมาหา
กินได้ พระเจ้าแผ่นดินอาจจะยกที่ดินให้เป็นที่อยู่ที่ทำมาหากินของ ขุนนาง ข้าราชการ
หรือผู้ใดผู้หนึ่งก็ได้.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นคำที่ใช้เมื่อกล่าวถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน เช่น พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระเมตตาแก่พสกนิกรอย่างยิ่ง จึงทรงแนะนำให้ข้าราชการทำสิ่ง
ต่างๆ เพื่อความสุขของประชาชน. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานคำสอนที่มี
คุณค่าแก่ประชาชนของพระองค์อยู่เสมอ ควรที่ทุกคนจะน้อมนำมาปฏิบัติตาม.
พระพุทธเจ้าหลวง แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ดังพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พสกนิกรใช้เมื่อกล่าวถึงพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยความเคารพสูงสุด ส่วนพระราชสมัญญาว่า สมเด็จพระปิย
มหาราช แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นที่รักยิ่งของประชาชน เป็นพระราช สมัญญาที่ประชาชนทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อแสดงถึงความรักและบูชาสูงสุดที่ ประชาชนมีต่อพระองค์.
สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นปราชญ์ เป็นพระราชสมัญญาที่ ประชาชนทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อ แสดงถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์

ส่วนคำทางการที่ใช้นำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ มีกังนี้

๑) คำนำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัย
พ่อขุน แปลว่า พ่อผู้ยิ่งใหญ่ เป็นคำนำหน้าพระนามของพระมหากษัตริย์เพื่อแสดงถึงความ ผูกพัน
ดุจพ่อปกครองลูก เช่น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหง
พระยา แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ เช่น พระยาลิไท พระยาไสลือไท

๒) คำนำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา
พระเจ้า แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ เช่น พระเจ้าอู่ทอง
สมเด็จพระ แปลว่า กษัตริย์ผู้ป็นใหญ่ เช่น สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

๓) คำนำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ในสมัยธนบุรี
สมเด็จพระเจ้า แปลว่า พระมหากษัตริย์ผู้ป็นใหญ่ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

๔) คำนำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระ เช่น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือใช้ย่อว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธ
ยอดฟ้าจุฬาโลก
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือใช้ย่อว่า พระบาทสมเด็จพระจอม
เกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นคำนำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์เมื่อยังไม่ได้ทรงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เช่น
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิธ.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๓ เมื่อกล่าวถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน
คำลำลอง
ในหลวง เป็นคำที่ใช้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในลักษณะที่เป็นภาษาพูด เช่น
เรารักในหลวง เราทำความดีถวายในหลวง

คำในวรรณคดี
กษัตริย์ เป็นคำภาษาสันสกฤต กฺษตฺริย บาลีใช้ว่า ขตฺติย แปลว่า นักรบ เป็นคำเรียก ผู้ปกครองประเทศ. ในภาษาไทย ใช้ว่า กษัตริย์ พระมหากษัตริย์ และแผลง เป็น กษัตร. คำว่า กษัตริย์ นำมาเข้าสมาสกับคำว่า อธิราช ซึ่งแปลว่า พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ เป็น กษัตราธิราช กษัตริยาธิราชราช. หรือนำมาเข้าสมาส กับคำว่า บดี ซึ่งแปลว่า นาย เจ้า ผู้ปกครอง ทำให้เกิดเป็นคำว่า กษัตรบดี.
ขัตติยะ เป็นคำภาษาบาลี ขตฺติย สันสกฤตใช้ว่า กฺษตฺริย แปลว่า นักรบ, ใช้เป็นคำ เรียกพระเจ้าแผ่นดินเช่นเดียวกัน. คำว่า ขัตติยะ แผลงเป็น ขัตติยา และสมาส
เข้ากับคำว่า วงศ์ หรือ อีศ เป็นคำว่า ขัติยวงศ์ ขัตติเยศ.
จักรพรรดิ เป็นคำเรียกพระจักรพรรดิผู้ปกครองจักรวรรดิ เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ และมีบารมีมากกว่าพระมหากษัตริย์โดยทั่วไป. พระจักรพรรดิมีสิ่งสำคัญที่วิเศษยิ่ง ๗ อย่าง ได้แก่ จักรแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว รถแก้ว.
จักริน ผู้มีจักร
จักรี ผู้มีจักร
เจ้าปถพินทร์ผ่านทวีป ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ผู้ครองทวีป
(ปถพินทร์ = ปถพี แปลว่า แผ่นดิน + อินทร แปลว่า ผู้เป็นใหญ่)
เจ้าพิภพ ผู้เป็นใหญ่ในโลก (เจ้า + พิภพ แปลว่า โลก)
ชนินทร์ ผู้เป็นใหญ่เหนือชนทั้งหลาย (ชน แปลว่า คน + อินทร แปลว่า ผู้เป็นใหญ่)
ธรณินทร์ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ( ธรณี แปลว่า แผ่นดิน + อินฺทร แปลว่า ผู้เป็นใหญ่)
ธรณิศร ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน (ธรณี แปลว่า แผ่นดิน + อิศฺร แปลว่า ผู้เป็นใหญ่)
ธรณิศวร์ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน (ธรณี แปลว่า แผ่นดิน + อิศฺวร แปลว่า ผู้เป็นใหญ่)
ธรณิศ แผ่นดิน ( ธรณี แปลว่า แผ่นดิน + อีศ )
ไท้ ผู้เป็นใหญ่
นรเทพ ผู้เป็นเทวดาในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + เทว แปลว่า เทวดา)
นรนาถ ผู้เป็นที่พึ่งของคน ( นร แปลว่า คน + นาถ แปลว่า ที่พึ่ง)
นรนายก ผู้เป็นผู้นำในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + นายก แปลว่า ผู้นำ)
นรบดี ผู้เป็นใหญ่ในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + ปติ แปลว่า นาย เจ้าของ)
นรบาล ผู้คุ้มครองดูแลคน ( นร แปลว่า คน + ปาล แปลว่า ผู้รักษา ผู้ดูแล)
นรราช ผู้เป็นพระราชาของคน ( นร แปลว่า คน + ราช แปลว่า พระราชา พระเจ้า แผ่นดิน)
นรเศรษฐ์ ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + เศฺรษฐ แปลว่า ประเสริฐ ดียื่ง)
นรังสรรค์ ผู้เป็นเทวดาในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + สรฺค แปลว่า ผู้สร้าง)
นราธิป ผู้เป็นใหญ่ในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + อธิป แปลว่า ผู้เป็นใหญ่)
นราธิเบนทร์ ผู้เป็นใหญ่เหนือผู้เป็นใหญ่ในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + อธิป แปลว่า
ผู้เป็นใหญ่ + อินฺทฺร= ผู้เป็นใหญ่ )
นราธิเบศร์ ผู้เป็นใหญ่เหนือผู้เป็นใหญ่ในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + อธิป แปลว่า
ผู้เป็นใหญ่ + อิศฺร= ผู้เป็นใหญ่ )
นรินทร์ ผู้เป็นใหญ่ในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + อินฺทฺร= ผู้เป็นใหญ่ )
นริศร ผู้เป็นใหญ่ในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + อิศฺร = ผู้เป็นใหญ่ )
นริศวร ผู้เป็นใหญ่ในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + อิศฺวร = ผู้เป็นใหญ่ )
นเรนทร์ ผู้เป็นใหญ่ในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + อินฺทฺร = ผู้เป็นใหญ่ )
นเรนทรสูร ผู้เป็นใหญ่ในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + อินฺทฺร = ผู้เป็นใหญ่ + สุร =ผู้กล้า)
นเรศวร ผู้เป็นใหญ่ในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + อิศฺวร = ผู้เป็นใหญ่ )
นเรศูร ผู้เป็นใหญ่ในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + อิศฺวร = ผู้เป็นใหญ่ )
นริศ, นเรศ หมู่คน ( นร แปลว่า คน + อีศ ) อนุโลมถือว่าตัดมาจาก นเรศวร์
นโรดม ผู้สูงสุดในหมู่คน ( นร แปลว่า คน + อุตม = สูงสุด)
นฤเทพ ผู้เป็นเทวดาในหมู่คน ( นฤ แปลว่า คน + เทว แปลว่า เทวดา)
นฤบดี ผู้เป็นใหญ่ในหมู่คน ( นฤ แปลว่า คน + ปติ แปลว่า นาย เจ้าของ )
นฤเบศ พระราชา
นฤปะ พระราชา
ธเรศ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ธเรศบงกชบทศรี คำแทนพระมหากษัตริย์ ( ธร = ผู้ทรงไว้ +อีศ + บงกช = ดอกบัว + ปท = เท้า +ศรี =สิริมงคล)
บพิตร คำแทนพระมหากษัตริย์
บรมบพิตร คำแทนพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่
ปิ่นธเรศ ผู้เป็นยอดของพระราชา
ปิ่นสยาม ผู้เป็นปิ่นของประเทศสยาม พระเจ้าอยู่หัวของชาวสยาม
ปิ่นเกล้า ผู้อยู่เหนือหัว
ประมุข ผู้เป็นหัวหน้า
ผ่านเกล้าฯ ผู้อยู่เหนือหัว
ผ่านเผ้า ผู้อยู่เหนือผม
ผ่านพิภพ ผู้อยู่เหนือแผ่นดิน
ผ่านฟ้า ผู้อยู่เหนือฟ้า
ผ่านหล้า ผู้อยู่เหนือแผ่นดิน
พระทรงเดช พระผู้มีอำนาจ
พระทรงฤทธิ์ พระผู้มีฤทธิ์
พระทรงธรรม์ พระผู้มีธรรมะ
พระทรงยศ พระผู้มียศ
พระทรงศักดิ์ พระผู้มีศักดิ์
พระปิ่นปักธาษตรี พระผู้เป็นปิ่นของพระนคร
ภูธร ผู้รักษาแผ่นดิน
ภูธเรศ ผู้รักษาแผ่นดิน
ภูธเรศวร ผู้รักษาแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่
ภูนาถ ผู้เป็นที่พึ่งของแผ่นดิน
ภูนายก ผู้นำของแผ่นดิน
ภูบดี ผู้เป็นเจ้าของแผ่นดิน
ภูบาล ผู้รักษาคุ้มครองแผ่นดิน
ภูเบศ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ภูเบศวร ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ภูป พระเจ้าแผ่นดิน
ภูภุช พระเจ้าแผ่นดิน
ภูมิธร ผู้รักษาแผ่นดิน
ภูมินทร์ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ภูมิบดินทร์ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ภูมี ผู้มีแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดิน
ภูมีศวร ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ภูวนาถ ผู้เป็นที่พึ่งในแผ่นดิน
ภูวเนตร พระเจ้าแผ่นดิน
ภูวไนย พระเจ้าแผ่นดิน
มหาธรรมาราชนรินทร์ พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงธรรมอย่างยิ่งใหญ่
มหิธร พระเจ้าแผ่นดิน
มหิบดี พระเจ้าแผ่นดิน
มหิบาล พระเจ้าแผ่นดิน
มหิป พระเจ้าแผ่นดิน
มหิศร พระเจ้าแผ่นดิน หรือพระศิวะ
มหิศวร พระเจ้าแผ่นดิน หรือ พระศิวะ
สมเด็จพระราชินี พระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์ที่ยังไม่ได้รับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เช่น
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร แล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์
กิติยากรเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์.
สมเด็จพระราชินีนาถ พระราชาที่เป็นผู้หญิง เช่น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ของประเทศอังกฤษ.
สมเด็จพระบรมราชีนี พระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์ที่ได้รับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว เช่น
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์พระบรมราชินี
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินีที่ทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ทรงดำรง ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เช่น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระยฃนางเจ้า เสาวภาผ่องศรีพระอัครเทวีเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ.

อนึ่ง ยังมีคำที่มีความหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินอีกมาก เช่น ภูเนตุ ภูเบนทร์ มหาบพิตร มเหศ
มเหศวร ราชัน ราชา ฤๅสาย วิภู สุริยราช อธิราช องค์ทรงยศ องค์ทรงสวัสดิ์ พระเจ้าอยู่หัว ฯลฯ