หน้าที่ของครูในการสอนศิษย์

ครู มีหน้าที่สำคัญ ๒ ประการ คือ สอนความรู้ในทางวิชาการเพื่อเป็นพื้นฐานให้ศิษย์ได้ก้าวต่อไป ในชั้นสูง กับสอนแนวทางการดำรงตนให้เป็นคนดีของสังคม ความรู้ทางวิชาการขั้นต้นที่สำคัญ คือ ความรู้วิชาภาษาไทย ซึ้งรวมทั้งการเรียนอ่าน เขียน ความเข้าใจภาษาการรู้จักใช้ภาษาที่ถูกทั้งในด้านเนื้อความและบริบทของการใช้ภาษา ภาษาไทยเป็นทั้งความรู้ในการสร้างตนเป็นคนไทยที่สมบูรณ์และเป็นเครื่องมือในการเรียนวิชาอื่นๆ ด้วย ส่วนการสอนแนวทางการดำรงตนให้เป็นคนดีของสังคม นั้น เป็นเรื่องที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก แต่ก็เป็นหน้าที่สำคัญที่ครูควรทำและน่าจะต้องทำให้สำเร็จด้วยหากต้องการที่จะดำรงความเป็นชาติไทยไว้ต่อไป การที่ชาติจะเจริญหรือเสื่อมก็อยู่ที่คนในชาติเป็นคนอย่างไร ถ้าคนในชาติส่วนใหญ่เป็นคนดี เป็นคนขยัน มีความรู้ มุ่งมั่นทำการงาน ชาติก็จะเจริญ ครูมีหน้าที่โดยตรงที่จะสร้างคนไทยให้เป็นกำลังสำคัญของชาติในช่วงที่ผ่านมา ดิฉันสังเกตว่าการศึกษาของเราเน้นการสร้างคนเก่ง คนรวย คนมีความสุข มากกว่าการสร้างคนดี คนขยัน คนอดทน หรือคนซื่อสัตย์สุจริต การศึกษาในระบบของไทยนั้นผ่านมาเกือบร้อยปีแล้ว แต่เรายังสร้างคนดีให้กับประเทศไม่ได้เต็มที่ ยิ่งกว่านั้นคุณสมบัติดีๆ ของคนไทยที่เราเคยรู้สึกภาคภูมิใจ เช่น การเป็นคนขี้เกรงใจผู้อื่น ความโอบอ้อมอารี ความซื่อตรง ความสุภาพ อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ความมีเมตตา และให้อภัยผู้อื่นเสมอ หรือความมีไมตรีจิตต่อผู้อื่น ฯลฯ ดูจะหายไป หรืออย่างน้อยก็ถดถอยไปจากสังคมไทย ครูควรจะช่วยกันนำคุณสมบัติดีๆ เหล่านี้กลับมาเพื่อให้สังคมไทยน่าอยู่ขึ้นดิฉันคิดว่าการปลูกฝั่งและอบรมคนให้เป็นคนที่เจริญ มีวัฒนธรรมเป็นหน้าที่ของครูโดยตรง ดิฉันไม่คิดว่าการสอนสมบัติผู้ดีเป็นเรื่องล้าสมัย ที่จริงเป็นเรื่องจำเป็นด้วยซ้ำเพราะโลกเราเจริญขึ้น คนเราก็ควรจะพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่เจริญ เจริญทั้งจิตใจ ความรู้ ความคิด คุณธรรม จริยธรรม ซึ้งเป็นคุณลักษณะภายใน และเจริญทั้งกิริยามารยาท การแต่งกาย การพูดจาซึ้งแสดงออกเป็นลักษณะภายนอก
ในช่วนชั้นที่ ๓ และ ๔ นั้น เด็กโตขึ้น มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีความใคร่รู้ใคร่ลอง มีอิสระและจินตนาการที่ลึกซึ้งและกว้างไกล จึงเป็นช่วงเวลาที่ครูต้องชี้นำให้ถูกต้องเหมาะสม ซึ้งต้องใช้ศาสตร์และศิลป์อย่างมาก ที่สำคัญ คือ ความเข้าใจและความอดทน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทไว้องค์หนึ่งว่า “ การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช้ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทนเสียสละแต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความอดทน คือ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม ” ( พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ในโอกาสเข้าเฝ้า เมื่อวันที ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ) ครูมีหน้าที่สร้างเด็ก ครูจึงต้องอดทน มุ่งมั่นทำงานให้สำเร็จ อนาคตของชาติอยู่ในมือครู ชาติในอนาคตจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ครู อยู่ที่การทำงานของครู

โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล
นายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย