พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทย

เนื่องในวันที่  ๕  ธันวาคม  ๒๕๕๗   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร  จะทรงมีพระชนมายุครบ  ๘๗  พรรษา สมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทยขอนำเรื่องราวที่ทุกท่านเมื่อได้อ่านแล้วจะรัก  “ในหลวงของเรา”  มากยิ่งขึ้นมานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน
บางเรื่องหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบมาก่อน ผู้เรียบเรียงขอขอบคุณท่านผู้นำข้อมูลมาเผยแพร่ใน face book  และเมื่อได้สอบทานแล้วก็เป็นเรื่องราวของพระองค์ที่เกิดในช่วงเวลาต่างๆ อันเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนของพระองค์อย่างแท้จริงดังนี้

๑. ทรงเรียกสมเด็จพระราชชนนีโดยใช้คำธรรมดาว่า “แม่”

๒. สมัยทรงพระเยาว์ ทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม

๓. หากทรงทำกิจกรรมแล้วมีกำไรจะถูกเก็บภาษี ๑๐% ทุกสิ้นเดือน สมเด็จพระราชชนนีจะเรียกประชุมเพื่อถามว่าจะเอาเงินไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนคนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

๔. ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทรงปั่นจักรยานไปโรงเรียนแทนรถพระที่นั่ง

๕. พระอัจฉริยภาพที่ได้มาจากการเล่น หากอยากได้ของเล่นต้องทรงเก็บสตางค์ซื้อหรือประดิษฐ์เอง ทรงหุ้นค่าขนมกับพระเชษฐาเพื่อซื้อชิ้นส่วนวิทยุเอามาประกอบเองแล้วแบ่งกันฟัง

๖. ทรงพระราชนิพนธ์เพลง “แสงเทียน” ครั้งแรกเมื่อมีพระชนมายุเพียง ๑๘ พรรษา ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและผู้ที่เคยได้ร่วมเล่นดนตรีกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเล่าถึงพระราชอัจฉยริภาพในการพระราชนิพนธ์เพลงว่า ทรงแต่งเพลงได้ทุกแห่ง บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีช่วย  ครั้งหนึ่งทรงเกิดแรงบันดาลพระทัยหยิบฉวยซองจดหมายได้ก็ทรงตีเส้น ๕ เส้น แล้วทรงเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้นโดยฉับพลัน เช่น “เราสู้” เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระมหากรุณารับสั่งเล่าเบื้องหลังการพระราชนิพนธ์เพลงเป็นครั้งแรกแก่สมาคมดนตรี  เนื่องในโอกาสที่พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ “Echo” บรรเลงเป็นปฐมฤกษ์ว่า

“เพลงแรกคือแสงเทียน…จากนั้นฉันก็แต่งขึ้นอีกเรื่อย ๆ จนบัดนี้รวมทั้งหมด ๔๐ เพลง ในระยะเวลา ๒๐ ปี คิดเฉลี่ยปีละ ๒ เพลง ที่ทำได้ก็เพราะได้รับความสนับสนุนจากนักดนตรี นักเพลงและนักร้อง รวมทั้งประชาชนผู้ฟัง ต่างได้แสดงความพอใจ และความนิยมพอสมควร จึงเป็นกำลังใจแก่ฉันเรื่อยมา ขอถือโอกาสขอบใจมาในที่นี้ด้วย ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “Echo” ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ นับเป็นบทแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงพร้อมคำร้องภาษาอังกฤษ ขณะนั้นมีพระชนมพรรษา ๔๐ พรรษา

ปัจจุบันมีเพลงพระราชนิพนธ์ รวมทั้งสิ้น ๔๘ เพลง จากลักษณะพิเศษต่าง ๆ ของเพลงพระราชนิพนธ์นี้อาจกล่าวได้ว่าบทพระราชนิพนธ์ทั้ง ๔๘ เพลงนี้ ต่างสะท้อนถึงพระราชประวัติตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ตลอดจนพระราชกรณียกิจนานัปการที่ได้ทรงปฏิบัติตั้งแต่เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็นพยานแห่งความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและประชาชนชาวไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเครื่องยืนยันว่าความสุขของปวงประชาคือ ความสุขของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้

๗. ทรงนำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ออกฉายแล้วนำเงินรายได้มาสร้างอาคารสภากาชาดไทยที่ รพ.จุฬาฯ และ รพ.ภูมิพล รวมทั้งใช้ในโครงการโรคโปลิโอและโรคเรื้อน

๘. ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรผลงานประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหรือ “กังหันชัยพัฒนา”

๙. ทรงเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาเชื้อเพลิงจากวัสดุการเกษตรเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน เช่น แก๊สโซฮอลล์  ดีโซฮอลล์ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี

๑๐. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีจำนวนกว่า ๓,๐๐๐ โครงการ โครงการสวนจิตรลดาเริ่มต้นขึ้นจากเงินส่วนพระองค์ ๓๒,๘๖๖.๗๓ บาท แล้วก็ค่อยๆ เติบโตอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

๑๑. ทรงประดิษฐ์ font จิตรลดา และ font ภูพิงค์ในคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ และทรงเชี่ยวชาญ ๖ ภาษาคือ ไทย  ละติน  ฝรั่งเศส  อังกฤษ  เยอรมัน  และสเปน

๑๒. ทรงจดทะเบียนสมรสเหมือนคนทั่วไป ปิดอากรแสตมป์ ๑๐ สตางค์ เสียค่าธรรมเนียม ๑๐ บาท หลังอภิเษกสมรสทรงฮันนีมูนที่หัวหิน

๑๓. ครั้งหนึ่งทรงแข่งเรือใบออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นกลับเพราะไปโดนทุ่น ซึ่งในกติกาถือว่าฟาวล์  ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น พระองค์ทรงรักษากติกาอย่างเคร่งครัด

๑๔. เมื่อผู้แทนพระองค์ไปติดต่อทำเอกสาร ทรงโปรดให้กรอกในช่องอาชีพของพระองค์ว่า “ทำราชการ”

๑๕. ของใช้ส่วนพระองค์ไม่จำเป็นต้องมียี่ห้อดัง การถวายของให้พระองค์จึงไม่จำเป็นจะต้องเป็นของแพง ไม่ทรงโปรดสวมเครื่องประดับยกเว้นนาฬิกา

๑๖. หลอดยาสีพระทนต์ ทรงใช้จนแบนราบโดยเฉพาะบริเวณคอหลอดจะมีรอยบุ๋มลึก ซึ่งเป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีดและกด

๑๗. พระเกศาที่ทรงตัดแล้วส่วนหนึ่งมอบให้ทหาร อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้สร้างวัตถุมงคลเพื่อมอบให้ราษฎรที่ทำความดีแก่ประเทศชาติ

๑๘. ครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จฯ เยี่ยมโครงการ ปรากฏว่ามีฝนตกลงมาอย่างหนัก ข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเปียกฝนกันทุกคน จึงมีรับสั่งให้องครักษ์เก็บร่มแล้วทรงเยี่ยมข้าราชการและราษฎรท่ามกลางสายฝน

๑๙. วันที่ทรงกำลังจะเข้าห้องผ่าตัดกระดูกสันหลัง (๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙) ทรงรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งคอมพิวเตอร์เดินสายออนไลน์ไว้เพราะกำลังมีพายุเข้าประเทศ เผื่อน้ำท่วมจะได้ช่วยเหลือทัน

๒๐. ห้องทรงงานอยู่ใกล้ห้องบรรทม เป็นห้องเล็กๆ ขนาด ๓×๔ เมตร ภายในมีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องพยากรณ์แผนที่ ฯลฯ

๒๑. ปีหนึ่งๆ ทรงเบิกดินสอ ๑๒ แท่ง ใช้เดือนละแท่งจนกระทั่งกุด ทุกครั้งที่เสด็จฯ ไปยังสถานที่ต่างๆ จะทรงมีแผนที่ซึ่งทรงทำขึ้นเอง (ตัดต่อเอง ปะกาวเอง) กล้องถ่ายรูป และดินสอที่มียางลบ

๒๒. ทรงพระราชทานปริญญาบัตรตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ จน ๒๙ ปีต่อมามีผู้คำนวณว่าเสด็จพระราชทาน ๔๙๐ ครั้ง ประทับครั้งละ ๓ ชม. ทรงยื่นพระหัตถ์ ๔๗๐,๐๐๐ ครั้ง น้ำหนักปริญญาบัตรฉบับละ ๓ ขีด รวมน้ำหนักทั้งหมด ๑๔๑ ตัน

๒๓. ทรงใช้พระเนตรข้างซ้ายข้างเดียวบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรมากว่า ๖๐ ปี

๒๔. พระองค์ตรัสว่า “ความจริงมันน่าท้อถอยอยู่หรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านเมือง คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ”

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในพระราชกรณียกิจ และพระราชกิจวัตรของพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าและเหล่าชาวไทยทั้งมวลขอถวายพระพรให้พระองค์ทรงพระเกษมสำราญ  มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน    มีพระพลานามัยที่แข็งแรงและทรงอยู่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศตลอดไป   ขอพระองค์ทรงพระเจริญ  ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม   ขอเดชะ