จุดเปลี่ยนเยาวชน จุดเปลี่ยนภาษาไทย

จุดเปลี่ยนเยาวชนไทย จุดเปลี่ยนภาษาไทย
คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างคนหนึ่งคุยให้ฟังว่า วันหนึ่งลูกผมพูดกับผมมักไม่เกิน ๒ ครั้ง คือ ตอนขอสตางค์ กับ ตอนตอบว่าจะออกนอกบ้านไปไหน
คุณครูหลายคนบ่นถึงนักเรียนในปัจจุบันว่า ถ้าครูเขียนข้อความบนกระดานหรือขึ้นพาวเวอร์พอยท์ ครูเขียนเสร็จหรือกดขึ้นจอ ณ วินาทีนั้นเด็กจะยกมือถือขึ้นมาถ่ายแทนการตั้งใจฟังหรือจดลงสมุด
คุณครูเก่าๆ หลายคนเปรยว่า หนุ่มสาวและเด็กรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้พูดคุยกับผู้ใหญ่ไม่ค่อยนาน จะสื่อสารอะไรก็ส่งข้อความ ส่งภาพจากมือถือ ไม่นิยมฟัง ไม่นิยมเขียน เมื่อจะส่งงานครูแม้เล็กๆ น้อยๆ ก็ต่อรองขอส่งด้วยการพิมพ์ เพราะลายมือไม่ดี
นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และนานวันอาการจะหนักมากขึ้น ไม่ทราบว่า การรับสารสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เทคโนโลยีที่เจริญอย่างรวดเร็ว จะมีผลกระทบต่อทักษะการใช้ภาษาไทยอะไรอีกบ้าง
หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนก็ระดมเร่งส่งเสริม วิธีการที่นิยม คือสารพัดจัดประกวดทั้งเขียนตามคำบอก คัดลายมือ ท่องอาขยาน เขียนเรียงความ อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า กระแสการใช้เทคโนโลยีมีพลังมหาศาล ผ่อนให้แก่แนวทางเก่าน้อยเต็มที่ ถ้าเปรียบเป็นการเล่นชักเย่อ คนที่อยู่ปลายทางเดิมเริ่มอ่อนแรง เหมือนจะซวนเซ และอาจพ่ายในที่สุด
กระแสการใช้เทคโนโลยีน่าจะส่งผลกระทบกับการสอนสะกดคำในปัจจุบันมิใช่น้อย ครูบางคนจึงใช้วิธีการเปลี่ยนไปจากเดิม ใช้การพูดตามตัวอักษรที่เห็นเรียงต่อๆกัน เหมือนการพิมพ์ในมือถือหรือในคอมพิวเตอร์ มิได้นำที่มาที่ไปของสระและอื่นๆ มาเป็นหลักในการสะกด ซึ่งจะพาให้ออกเสียงคำนั้นได้
รูปสระในภาษาไทยมีจำนวนมาก การใช้ก็วางข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง วางข้างบนบ้าง ข้างล่างบ้าง และวางรอบพยัญชนะบ้าง
วิธีการเดิมที่สอนสะกดคำ มีดังนี้
๑. ไม่ว่าคำนั้นจะเขียนสระก่อนพยัญชนะหรือหลังพยัญชนะ ให้อ่านออกเสียงพยัญชนะก่อนเสมอ เช่น เก สะกดว่า กอ – เอ เก
กำ สะกดว่า กอ – อำ กำ

๒. สระเสียงหนึ่งๆ รูปสระใช้ตัวเขียนตัวเดียว เช่น
เสียง /อา/ ใช้รูป -า
เสียง /เอ/ ใช้รูป เ-
แต่เสียงสระบางเสียง รูปสระใช้ตัวเขียนหลายตัว เช่น เสียง /เอา/ ใช้รูป เ – า ก็ให้สะกดคำนั้นตามเสียงรูปสระ โดยไม่แยกสะกดตามตัวเขียน เช่น
เตา สะกดว่า ตอ – เอา เตา
เงาะ สะกดว่า งอ – เอาะ เงาะ

๓. รูปสระบางรูปเปลี่ยนรูป หรือลดรูปเมื่อมีตัวสะกด เดิมอ่านคำที่ใช้สระลักษณะนี้ ตามเสียงสระ ปัจจุบันอ่านกันหลายแบบ เช่น
กัน สะกดว่า กอ – อะ – นอ กัน (ใช้เสียงสระเป็นหลัก)
หรือ กอ – ไม้หันอากาศ – นอ กัน (ใช้รูปสระเป็นหลัก)
คน สะกดว่า คอ – โอะ – นอ คน (ใช้เสียงสระเป็นหลัก)
หรือ คอ – นอ คน (ใช้รูปสระเป็นหลัก)

๔. คำที่พยัญชนะต้นเป็นพยัญชนะประสม ที่เรียกว่า คำควบกล้ำ อ่านกันหลายแบบ เช่น
กลอง สะกดว่า กอ – ลอ – ออ – งอ กลอง (อ่านเรียงตัวอักษร)
หรือ กลอ – ออ – งอ กลอง (อ่านออกเสียงตัวควบก่อน)
ความ สะกดว่า คอ – วอ – อา – มอ ความ (อ่านเรียงตัวอักษร)
หรือ ควอ – อา – มอ ความ (อ่านออกเสียงตัวควบก่อน)

๕. คำที่เป็นอักษรนำ อ่านได้หลาบแบบ เช่น
หนา สะกดว่า หอ – นอ – อา หนา (อ่านเรียงตัวอักษร)
หรือ หอ – นอ หนอ – หนอ -อา หนา (อ่านออกเสียงนำก่อน)
อนึ่ง ครูบางคนที่ส่งนักเรียนไปสอบแข่งขันรางวัล “ราชบัณฑิตสรรเสริญ” คงได้เห็นแบบการสอบเขียน โดยให้พูดสะกด เช่น
แคะไค้ ให้สะกดว่า สระแอ ค ควาย สระอะ สระไอไม้มลาย ค ควาย ไม้โท
ข้างต้น มีจุดประสงค์ทดสอบความสามารถการเขียนคำ จึงให้บอกตามลำดับการเขียน ทั้งให้บอกชื่อพยัญชนะให้ชัดเจน และแยกรูปสระ จึงต่างจากครูบางคนที่ให้สะกดเช่นคำว่า เสื่อ ว่า
เสื่อ สะกดว่า เอ – สอ – อือ – ไม้เอก – ออ เสื่อ
มีข้อสังเกตว่า ลักษณะนี้เป็นการสอนสะกดคำแบบให้จำ และไม่ชัดเจนว่าเป็น ส (เสือ) ศ (ศาลา) หรือ ษ (ฤาษี) เนื่องจากพยัญชนะไทยมีเสียงซ้ำกัน รวมทั้งไม่เข้าใจเรื่องรูปสระและเสียงสระที่แท้จริง
จุดเปลี่ยนการสอนสะกดคำที่เป็นประเด็นกันอยู่ในขณะนี้ น่าจะมาจากอิทธิพลของการใช้เทคโนโลยี หากผู้ใช้ไตร่ตรองคำนึงถึงระบบระเบียบทางภาษาบ้าง ก็จะไม่ถูกกล่าวขานวิจารณ์เช่นนี้